Flash Cartoon Animation

ความหมายของการ์ตูนแอนิเมชัน
            แอนิเมชัน ( Animation ) มาจากคำภาษาละตินว่า “Anima” แปลว่า วิญญาณ หรือลมหายใจ ดังนั้น คำว่า Animation จึงมีความหมายว่า การทำให้มีชีวิตจิตใจ ดังนั้น การ์ตูนแอนิเมชันจึงเป็นการนำภาพการ์ตูนที่เราวาดออกมานำเสนอให้มีชีวิตชีวา หรือเรียกได้ว่าทำให้การ์ตูนเหล่านั้นมีชีวิตขึ้น
            แอนิเมชันจะอาศัยภาพลวงตา ทำให้เราเห็นและเชื่อว่ามีอะไรบางอย่างเคลื่อนที่ได้ เช่น การมองเห็นภาพยานอวกาศที่เคลื่อนที่ได้ หรือมองเห็นลูกเทนนิสกระเด้งจากพื้น หรืออาจจะเห็นตั๊กแตนที่กำลังกระโดดไปมา
            จะเห็นได้ว่าแอนิเมชันนั้นก็คือการนำภาพมาเรียงต่อกัน ซึ่งภาพแต่ละภาพนั้นเราจะเรียนกว่า เฟรม ซึ่งจะคล้ายกับการเก็บภาพเป็นซ๊อตๆ ทำให้เราเห็นว่าภาพแต่ละภาพเหล่านั้นทำให้เกิดความเคลื่อนไหวได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หากในเฟรมแรก เป็นภาพของกระต่ายที่กำลังวิ่ง โดยใช้ขาข้างขวาเพื่อรับน้ำหนักและในเฟรมถัดไป หรือเฟรมที่สอง กระต่ายได้ออกแรงยกขาข้างซ้าย ถีบตัวจนกระทั้งลอยตัว แล้วเปลี่ยนมาใช้ขาข้างซ้ายเพื่อรับน้ำหนักอีกครั้ง ทำเช่นนี้สลับกันต่อๆ ไปเรื่อยๆ ในแต่ละเฟรม เหล่านี้จีงเป็นหลักการสำคัญที่นักแอนนิเมเตอร์ทั้งหลายได้นำภาพนิ่งหลายๆภาพมาลำดับต่อเนื่องกันไป ทำให้เราเห็นเป็นการเคลื่อนที่ต่างๆ

ตัวอย่างการสร้าง Flip book animation  ที่อาศักหลักการของภาพลวงตา




Program สำหรับการทำงานแอนิเมชัน
1. Toon Boom Studio ได้รับการพัฒนาจากนักสร้างการ์ตูน 2D แอนิเมชันมืออาชีพ จึงเป็นโปรแกรมที่รวมเครื่องมือที่เหมาะสมกับการใช้ทำแอนิเมชันไว้ในโปรแกรมเดียว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างงานการ์ตูน 2D แอนิเมชัน เพราะมีเครื่องมือที่ง่ายต่อการใช้งานและสามารถวาดลายเส้นโดยไม่ต้องใช้กระดาษในการวาด หรือจะสแกนภาพที่วาดจากกระดาษไปทำแอนิเมชันต่อไปในโปรแกรมได้  และยังนำเข้าไฟล์ได้หลายรูปแบบ สามารถทำงานร่วมกับเรื่องเสียงและยังมีเครื่องมือเคลื่อนย้ายกล้องในรูปแบบ 3 มิติ จึงช่วยให้เราทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น รวมทั้งการนำเสนองานออกก็สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ
ดูตัวอย่างโปรแกรม      https://www.youtube.com/watch?v=sAPjO-bc2x0

2. Swish MAX เป็นโปรแกรมที่ใช้สร้างภาพเคลื่อนไหว เพียงแค่ใช้เครื่องมือที่โปรแกรมมีมาให้เท่านั้นก็สามารถที่จะนำเสนองานในรูปแบบของไฟล์ Shock wave Flash (.swf) ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการสร้างเว็บเพจได้ และยังสามารถแปลงเป็นไฟล์ avi ซึ่งใช้ในการตัดต่อภาพยนตร์ได้อีกด้วย ซึ่งใช้งานได้ง่าย SwishMAX จะคล้ายกับแฟลช แต่ใช้ง่ายกว่าและมีฟีเจอร์น้อยกว่า
                ดูตัวอย่างโปรแกรม  https://www.youtube.com/watch?v=zuC7CeK0wpM

3. Adobe Flash Cs3 เป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุดจากค่าย Adobe ทีพัฒนามาเพื่อสนับสนุนการสร้างงานกราฟิก ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว สำหรับการนำเสนอผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Flash มีฟังก์ชันช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างผลงานหลากหลายรูปแบบ ตลอดชุดคำสั่งโปรแกรมมิ่งที่เรียกว่า Flash ActionScript ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสามารถคอมไพล์ (Compile) เป็นโปรแกรมใช้งาน (Application Program) เช่น การทำเป็น e-Card เพื่อแนบไปพร้อมกับ e-Mail ในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
ดูตัวอย่างโปรแกรม  https://www.youtube.com/watch?v=LCZtGDSafNE

ขั้นตอนหลักในการสร้างการ์ตูนแอนิเมชัน ( The Classic Stepe of Cartoon Animation)
งานสร้างสรรค์การ์ตูนแอนิเมชันที่ดี มักจะอาศัยขั้นตอนหลักๆ ด้วยกัน 3 ขั้นตอนคือ
1. ขั้นตอนก่อนการผลิต (Pre-Production)
ขั้นตอนก่อนการผลิต เป็นขั้นตอนในการเตรียมสร้างงานแอนิเมชัน ในขั้นตอนนี้จะประกอบไปด้วยเรื่องของการเตรียมเนื้อเรื่องให้เป็นภาพคร่าวๆ ตั้งแต่การวางแผนกลยุทธ์ การเตรียมงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ วาง Concept และพัฒนาแนวคิด การวางหัวข้อเรื่อง การกำหนดเนื้อหาเรื่องราว เขียนสคริปต์ ออกแบบลักษณะของตัวละคร วาดการ์ตูน การกำหนดทิศทางของศิลปะ และการสร้างสตอรีบอร์ด เรียกว่าเป็นขั้นตอนเตรียมการจริงๆ จนได้ภาพของเรื่องที่จะทำออกมาชัดเจนในระดับหนึ่ง ตอนจบของขั้นตอนนี้เราก็จะได้ภาพคร่าวๆ ของเรื่องราวที่จะทำ หรือที่มักจะเรียกกันว่า Storyboard สำหรับเอาไว้ไปทำงานต่อไปขั้นตอนอื่น
2. ขั้นตอนการผลิต (Production)
            ในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนของการเริ่มลงมือทำงานแอนิเมชันจาก Storyboard ที่เตรียมไว้คือหลังจากเตรียมการทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเข้าสู่การจัดวาง Layout โดยการทำแอนิเมติก การเตรียมและทดสอบเสียง กำหนดหลักการเคลื่อนไหวของตัวละครและภาพ ไปจนถึงการทำแอนิเมชันส่วนต่างๆ จนหมดทั้งเรื่อง หลังจากเสร็จงานในขั้นตอนนี้แล้ว เราก็จะได้การ์ตูนแอนิเมชันเต็มๆ หนึ่งเรื่อง ที่พร้อมจะนำไปตัดต่อ ตกแต่ง แก้ไขเสียงเพื่อนำไปอวดสู่สายตาชาวโลกต่อไป
3. ขั้นตอนหลังการผลิต (Post-Production)
            ขั้นตอนหลังการผลิต จะเป็นขั้นตอนของการปรับแต่งเสียง การใส่ Preladers  ใส่ Titles และ Credit ใส่ปุ่มหยุดหรือการเล่นซ้ำ การนำเสนอชิ้นงานในรูปแบบอินเทอร์เน็ต หรือการนำออกในรูปแบบไฟล์วิดีโด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ เรียกได้ว่าพอจบขั้นตอนนี้ เราก็ได้การ์ตูนแอนิเมชันที่เสร็จสมบูรณ์ทั้งภาพและเสียงพร้อมจะนำไปใช้งานจริงๆจังๆ
การเริ่มคิดเนื้อเรื่อง
            ก่อนที่เราจะลงมือสร้างการ์ตูนแอนิเมชันสักเรื่องหนึ่ง สิ่งที่สำคัญคือ การหาเนื้อหาเรื่องราวที่สามารถดึงดูดจิตใจของผู้ชมให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า “อะไร? อะไรล่ะที่จะเกิดขึ้นต่อไป?” หลายคนมักสงสัยและถามว่า เราจะหาเนื้อเรื่องมาจากไหนดี... คำตอบมีอยู่สองข้อครับคือ “จากประสบการณ์ที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน” และ “จากแรงบันดาลใจและไอเดีย”
สิ่งที่ควรพิจารณาในการออกแบบเนื้อเรื่อง
            เมื่อได้ไอเดียแล้ว ก็ต้องขยายไอเดียเหล่านี้ให้กลายเป็นเนื้อเรื่องในงานแอนิเมชันที่ต้องอธิบายอย่างละเอียดมากขึ้น โดยอาศัยจินตนาการและความฝันที่มีอิสระ โดยพิจาณาเหตุการต่างๆ ประกอบดังนี้
·       จะสื่อสารแบบไหน
·       ใครคือผู้ชมของเรา
·       อะไรบ้างที่สามารถสร้างความขบขันได้
·       อะไรบ้าที่ดูแล้วน่าเบื่อ
ลงมือเขียนเนื้อเรื่องที่ต้องการ
            จุดของเรื่อง ( The Pitch)
                        หลังจากได้แรงบันดาลใจมาแล้ว ตอนนี้ก็มาถึงขึ้นตอนการตรวจสอบเล็กๆน้อยๆ ก่อนจะมาลงลึกไปในรายละเอียดของเรื่องราว ก่อนจะตัดสินใจว่าจะทำเรื่องอะไร ต้องมาดูเรื่องนี้ก่อนคือ จริงๆ แล้วเราต้องการนำเสนออะไรกันแน่ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่มักจะมีคติสอนใจ หรืออาจจะกล่าวถึงใจความสำคัญของเรื่องเป็นโครงบทประมาณ 2 ประโยค หรืออาจจะให้คำสัก 2-3 คำ เพื่อเป็นจุดขายทางความคิด เพื่อสื่อสารส่วนสำคัญของเรื่องราวซึ่งจะช่วยให้เราได้รู้อย่างแท้จริงว่า เรื่องนี้จะบอกอะไรกับเราบ้าง อะไรบ้างที่สำคัญน้อย และส่วนใดบ้างที่เราควรจะดัดออก
                        ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเต่ากับกระต่าย ใครๆ ก็รู้ว่ามันคือเต่ากับกระต่ายวิ่งมาแข่งกัน แต่จริงๆ แล้วจุดที่ต้องการนำเสนอของเรื่องนี้ก็คือ “ถ้ามีความหยิ่งผยอง เชื่อมันในตัวเองมากเกินไป อาจจำทำให้ผิดพลาดและอาจเป็นผู้พ่ายแพ้ในที่สุด” โดยนำเสนอผ่านการแข่งขันของสัตว์ชนิดหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องคามเร็ว แต่ทะนงตนและประมาทในการแข่งขัน จึงทำให้แพ้เต่าซึ่งขึ้นชื่อเรื่องคามเชื่องช้า ดังนั้น ถ้าจะให้ได้เนื้อเรื่องมา ก่อนอื่นควรจะมีที่มาของเรื่องและจุดประสงค์ของเรื่อง ดังนี้

ที่มา :    เท้าความกลับไปยังนิทานอมตะเรื่องหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี เรื่องเต่ากับกระต่าย สมัยหนึ่งเต่าผู้มีความเฉลียวฉลาด สามารถเอาชนะการแข่งขันความเร็วกับกระต่ายมาแล้ว ต่อมาได้มีการแข่งขันกันเรื่อยมาเพื่อหาผู้ชนะที่แท้จริง จนกระทั่งมาถึงในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น เรื่องราวดังกล่าวทำให้ผู้เขียนจินตนาการและเกิดแนวความคิดที่จะผสมผสานการแข่งขันระหว่างเต่ากับกระต่ายอีกครั้งในยุคปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของเรื่อง “จุ๊บจิ๊บ ภาค เต่ากับกระต่าย” (เนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการประยุกต์เรื่องราวจากนิทาน เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่านเท่านั้น มิได้มีเจตนามี่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องราวในนิทานที่แท้จริงแต่อย่างใด)
The Pitch :  “ถ้ามีความหยิ่งผยอง เชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป อาจจะทำให้ผิดพลาดและอาจเป็นผู้พ่ายแพ้  ในที่สุด”     

การสร้างโครงเรื่องและการแบ่งส่วนเนื้อหาของเรื่องในการสร้างแอเนมิชัน
            ฉากแต่ละฉากในภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะพัฒนามาจากบทประพันธ์ของนักเขียนเป็นส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยความรู้การถ่ายทอดจากภาษาเขียนเหล่านั้นออกมาเป็นภาษาภาพที่ให้ผู้ชมได้เข้าใจ โดยปราศจากเสียงใดๆ เราควรพิจารณาคำและความหมายต่างๆ ของบทประพันธ์ให้ชัดเจน ทำความเข้าใจให้กระจ่างชัด ดูว่าตัวละครควรเป็นอย่างไร และเป็นใครกันบ้าง
            การเขียนโครงเรื่อง เป็นการขยายแนวคิด ซึ่งอาจเป็นเพียงบันทึกย่อ 2-3 ประโยคของสถานการณ์บางอย่าง หรือเรื่องอย่างย่อๆ โดยอาศัยการดึงใจความสำคัญออกเป็นประเด็นต่างๆ ออกมาให้เข้าใจง่ายขึ้น ที่สำคัญต้องรักษาความสมบูรณ์ของเนื้อเรื่องให้ครบถ้วน การเขียนโครงเรื่องส่วนใหญ่จะแบ่งเนื้อหาของเรื่อง โดยใช้โครงสร้างแบบสามองค์ เป็นการแบ่งเรื่องออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ แต่ละส่วนเราจะเรียกว่า องค์ (Act) ได้แก่
-          ส่วนของการเปิดเรื่อง (Beginning) เป็นการเริ่มต้นของการกำหนดฉากและแนะนำตัวละคร ซึ่งเราจะต้องดึงดูดความสนใจของผู้ชมเอาไว้ให้ได้ อาจจะให้จุดถึงดูดจากตัวละครซึ่งจะนำไปสู่การแสดงในเนื้อเรื่อง ช่วงนี้มีจุดประสงค์ตรงที่อยากให้คนดูรู้ที่มาคร่าวๆ ว่าตัวละครเป็นอย่างไรมีนิสัยอย่างไร มีปมด้อยหรือจุดเด่นตรงไหน แล้วก็บรรยากาศรวมๆ ของสถานที่ว่าเป็นที่ไหนอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องเต่าจะมีนิสัยทะนงตัวและชอบเอาชนะจึงเป็นที่มาของการแข่งขันที่น่าติดตาม
-          ส่วนของการดำเนินเรื่อง (Middle) ช่วงกลางเรื่องจะเป็นการแสดงออกในลักษณะต่างๆของตัวละคร เป็นการสร้างอารมณ์ให้ผู้ชมผจญกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่จุดสนใจของเรื่อง เป็นช่วงที่เรื่องร่างต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อุปสรรคเริ่มมา ปริศนาเริ่มเกิด อะไรๆ ก็ดูจะไม่เป็นใจ ชีวิตมันดูมีอุปสรรคเต็มไปหมด ถ้าต้องการเขียนเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ที่มีความยาวมากๆ ตรงจุดนี้เองจะต้องพัฒนาลักษณะนิสัยต่างๆ ของตัวละคร และกำหนดเค้าโครงเรื่อง ให้น่าสนใจ
-          ส่วนของการปิดเรื่อง (End)  บทสรุปของเรื่องควรมีเนื้อหาที่กล่าวถึงช่วงก่อนหน้าประมาณ 2-3 ซีน ถ้าเราสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง บทสรุปของเรื่องจะสนับสนุนความเข้มแข็งของเรื่องได้ดีขึ้น บทสรุปที่ดีจะช่วยสร้างการจดจำ และดึงดูดให้ผู้ชมกลับมาดูอีกครั้ง และที่สำคัญส่วนนี้เป็นส่วนที่มี Climax ของเรื่องรวมอยู่ด้วย ดังนั้น จะจบแบบไหนอย่างไร ตรงนี้เป็นจุดที่ต้องดึงอารณณ์คนดูออกมาให้ได้อย่างที่ต้องการมากที่สุด
มาลองดูการแบ่งส่วนเนื้อเรื่องของ “จุ๊บจิ๊บ ภาคเต่ากับกระต่าย” เป็นตัวอย่าง
-          ส่วนของการเปิดเรื่อง
     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเต่าน้อยผู้เย่อหยิ่งทะนงตนตัวหนึ่งกำลังขับรถเล่นอยู่ในเมืองทันทีที่สัญญาณไปเปลี่ยนเป็นสีแดงจึงได้พบกับกระต่ายน้อยจุ๊บจิ๊บกำลังขับรถมาเทียบพอดี
-          ส่วนของการดำเนินเรื่อง
      ด้วยความอวดเก่ง เต่าน้อยจึงได้เบิลเครื่องใส่ พร้อมกับเชิดหน้าด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องในใจว่า รถเต่างามหรูนี้สามารถเอาชนะกระต่ายน้อยได้อย่างสบาย สบาย โดยที่ยังไม่รู้ตัวว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทันทีที่สัญญาณเปลี่ยนเป็นไฟเขียน เต่าน้อยก็ออกรถแบบสุดตัวคิดว่ากระต่ายน้อยไม่สามารถตามทันได้
-          ส่วน Climax หรือปิดเรื่อง
       กระต่ายน้อยนิ่งสงบอย่างใจเย็น เลื่อนมือไปเปิดอุปกรณ์พิเศษในรถ จากนั้นก็ออกตัวด้วยความเร็วที่เหนือกว่า วิ่งแซงเต่าน้อยผู้หลงในความมั่นใจของตนเองเสียจนหมดท่าไปเลย 555+

พื้นฐานการเขียน Script-Screenplay
            หลังจากได้เรื่องราวคร่าวๆ มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ จัดการทำเรื่องราวที่ได้มาให้มีรายละเอียดเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ด้วยการเริ่มจาก Screenplay หรือการเขียนบทนั่นเอง
            การเขียนบทก็คือ การเขียนออกมาว่าแต่ละฉากเกิดอะไรขึ้นบ้าง บรรยากาศเป็นอย่างไร ที่ไหน ใครพูดอะไรบ้าง ใครทำอะไรบ้าง อารมณ์ไหนกันบ้าง เอาให้ละเอียดที่สุดเหมือนเขียนนิยาย แต่ให้แบ่งทำเป็นฉากๆไป
ความหมายของคำศัพท์พื้นฐานในการเตรียมงานแอนิเมชัน
*  ช็อต (Shot) คือ การถ่ายภาพยนตร์ในครั้งหนึ่งที่มีช่วงเวลาที่ต่อเนื่องโดยไม่หยุด จังหวะการทำงานของกล้องในการถ่ายบันทึกภาพยนตร์เป็นช่วงๆ นี้ ต้องการสร้างชุดของเนื้อหาความหมายเป็นหน่วยๆ อาจมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น อยู่ในสถานที่เดียวกันของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้คงความต่อเนื่องด้วยสถานที่เวลา ในอีกความหมายหนึ่งของช็อตคือ ระยะห่างระหว่างกล้องถ่ายกับวัตถุในฉากหรือมุมของการวางกล้องกับวัตถุ หรืออีกแบบหนึ่งคือ การถ่ายแต่ละช็อตอย่างแตกต่างไม่ต่อเนื่องทั้งสถานที่ เหตุการณ์ และช่วงเวลาก็ได้
*   ฉากหรือซีน (Scene) ในทางการถ่ายภาพยนตร์หมายถึง สถานที่ (Place) หรือฉาก (Set) ที่จัดขึ้นหรือดัดแปลงขึ้น เพื่อใช้ในการแสดง หรือเพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์ ในการประกอบเรื่องของภาพยนตร์ซีนจึงเป็นหน่วยย่อยของเรื่องเล่าด้วยภาพ ซึ้งประกอบด้วยซ็อตที่เกิดขึ้นในสถานที่เดียวกัน
*   ซีเควนซ์ (Sequence) คือ ตอน หรือช่วงเหตุการณ์หนึ่งของการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ซึ่งเกิดจากซีนหลายๆ ซีนมารวมกัน โดยมีความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่บอกให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวในช่วงเวลา หรือเหตุการณ์หนึ่งๆ ซีเควนซ์หนึ่งๆ ของภาพยนตร์อาจประกอบขึ้นด้วยซีนเพียงชีนเพียงชีนเดียว หรือเกิดจากซีนหลายๆ ซีนมาประกอบกันขึ้นก็ได้ และอาจเป็นได้ที่ซีเควนซ์หนึ่งที่สามารถเล่าเรื่องราวหนึ่งๆ ให้ผู้ชนเข้าใจในเหตุการณ์ หรือความหมายของภาพยนตร์ช่วงนั้นให้เข้าใจได้อย่างสมบูรณ์
*   สมคริปต์ (Script) เป็นขั้นตอนในการจับใจความสำคัญของเนื้อเรื่องให้ออกมาในแต่ละฉากพร้อมทั้งกำหนดมุมกล้อง เทคนิคพิเศษ รวมถึงระยะเวลาของการเคลื่อนไหว ซึ่งจะถูกกำหนดไปด้วยขอบเขตของเวลาและสถานที่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น